วันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

#สัปดาห์ที่3 : องอาจเตือนกินน้ำพริกแมงดาเจอสารแต่งกลิ่นถึงขั้นชีวิต!


องอาจเตือนกินน้ำพริกแมงดาเจอสารแต่งกลิ่นถึงขั้นชีวิต!
ผู้สื่อข่าวรายงานจาก ทำเนียบรัฐบาลดุสิตว่า นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. เปิดเผยว่า ได้รับการร้องเรียนสมาพันธ์ชมรมคุ้มครองผู้บริโภค กรุงเทพมหานคร กรณีการนำวัตถุแต่งกลิ่นรสสังเคราะห์กลิ่นแมงดานามาทำนำพริกแมงดา ซึ่งเมื่อรับประทานแล้วมีอาการปวดท้อง และเมื่อสัมผัสโดนผิวหนังเกิดอาการผื่นคัน รวมทั้งหยดลงบนกล่องโฟมแล้วสารเคมีจะทำปฏิกริยาละลายโฟมได้ จึงได้ให้ ศูนย์เฝ้าระวังและพิสูจน์สินค้าอันตราย ตรวจพิสูจน์ข้อเท็จจริงพบว่า วัตถุแต่งกลิ่น รส สังเคราะห์แมงดานาที่จำหน่ายในท้องตลาด เป็นสารเคมีสังเคราะห์ขึ้น เพื่อให้เกิด กลิ่น รส ตามต้องการ

นายองอาจ กล่าวว่า ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายตามท้องตลาด มักแสดงฉลากไม่ครบถ้วนผู้ประกอบการบางรายไม่ระบุส่วนประกอบและปริมาณการใช้ที่ชัดเจน ซึ่งหากผู้บริโภคไม่อ่านฉลาก และไม่ทำความเข้าใจกับวิธีการใช้งานในปริมาณที่เหมาะสมแล้ว จะทำให้ผู้บริโภคได้รับสารเคมีมากเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนด ส่งผลให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพได้ เช่น คลื่นไส้ เวียนศรีษะ ปวดท้อง ท้องร่วง เป็นต้น

จากการสำรวจตลาดและการใช้งานวัตถุสังเคราะห์แต่ง กลิ่น รสชาติอาหาร พบว่า มีวางจำหน่ายอยู่ 3 ประเภท ได้แก่
ประเภทที่ 1 วัตถุแต่งกลิ่นรสธรรมชาติ เป็นการนำพืชหรือวัตถุจากธรรมชาติมาสกัด กลิ่น รส โดยวิธีทางกายภาพ เช่น ใบเตย อ้อย ฝักวนิลา ใบตะไคร้หอม มะนาว เป็นต้น
ประเภทที่ 2 วัตถุแต่งกลิ่นรส เลียนธรรมชาติ เป็นการสกัด กลิ่น รส จากพืชหรือวัตถุจากธรรมชาติโดยวิธีทางเคมี ซึ่งผู้บริโภคสังเกตได้จากฉลากจะปรากฏคำว่า ?สารแต่ง กลิ่นรส เลียนธรรมชาติ? เช่น กลิ่นวนิลา กลิ่นนมแมว กลิ่นแอลมอนด์ กลิ่นช้อคโกแลต เป็นต้น
ประเภทที่ 3 วัตถุแต่งกลิ่นรสสังเคราะห์ เป็นการนำสารเคมีมาผสมกันและสังเคราะห์ให้เกิด กลิ่น รส ตามที่ต้องการ เช่น กลิ่นแมงดานา กลิ่นสตรอเบอรรี่ เป็นต้น
นายองอาจ กล่าวว่า จากการศึกษาวัตถุแต่งกลิ่นรสสังเคราะห์ ?กลิ่นแมงดานา? เกิดจากส่วนผสมสารเคมี 4 ชนิด ได้แก่โพรพีลินไกลคอล เอทิลอะซีเตท เฮกซิลอะซีเตท ไดเมทิลซัลไฟด์ ซึ่งสารเคมีบางชนิดอาจออกฤทธิ์เป็นอันตรายเฉียบพลันที่มีผลทำให้หนูตายได้ถึงร้อยละ 50 หากได้รับปริมาณเกิน 3.7 กรัมต่อกิโลกรัม
นายองอาจ กล่าวอีกว่า ตามท้องตลาดผู้ประกอบการอาหารทั่วไป นิยมใช้วัตถุแต่งกลิ่นรสสังเคราะห์จำนวนมาก เพื่อลดต้นทุน อาทิ
1.น้ำมะนาวเทียมหรือกรดมะนาว เกิดจาก น้ำผสมกรดซิตริก โดยไม่มีส่วนผสมใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับมะนาวเลย ผู้ประกอบการร้านอาหารนิยมนำมาทำ ส้มตำ ยำ หรือน้ำจิ้มเลิศรสต่างๆ ซึ่งหากรับประทานปริมาณมากอาจทำให้เกิดอาการปวดท้องหรือท้องร่วงได้
2.ผงชูรส โดยมาตรฐานกำหนดการบริโภคไม่เกิน 1 ช้อนชาต่อวัน ซึ่งหากรับประทานมากเกินไปจะเกิดอาการชาปลายลิ้น ชาปลายนิ้ว แน่นหน้าอก เรียกอาการดังกล่าวว่า การแพ้ผงชูรส หรือโรค Chinese Restaurant Syndrome
ดังนั้น ภายใต้อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ คคบ.ตนจะมอบหมายให้เลขาธิการสคบ.และคณะกรรมการว่าด้วยฉลากไปพิจารณาออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการคุ้มครองผู้บริโภคพ.ศ.2522 ที่ว่าด้วยสินค้าที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ สุขภาพ ร่างกาย หรือจิตใจ เนื่องในการใช้สินค้า หรือโดยสภาพของสินค้านั้น หรือมีสินค้าที่ประชาชนทั่วไปใช้เป็นประจำ ซึ่งการกำหนดฉลากของสินค้านั้น จะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคในการที่จะทราบข้อเท็จจริง ในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้านั้น แต่สินค้าดังกล่าวไม่เป็นสินค้าควบคุมฉลาก ให้คณะกรรมการว่าด้วยฉลาก มีอำนาจกำหนดให้สินค้านั้นเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก โดยจะเร่งรัดให้มีการออกประกาศให้เป็นสินค้าควบคุมฉลากภายใน 30 วัน หลังจากนั้นหากพบว่ามีการฝ่าฝืน ผู้ผลิต ผู้สั่งหรือนำเข้าเพื่อจำหน่ายในราชอาณาจักร จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และกรณีที่เป็นผู้จำหน่ายสินค้าที่ควบคุมฉลากแต่ไม่จัดให้มีฉลากหรือมีฉลากที่ไม่ถูกต้อง มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นายองอาจ กล่าวว่า สำหรับแนวทางการควบคุมการใช้วัตถุแต่งกลิ่น รส สังเคราะห์นั้น จะกำหนดให้ผู้ผลิตนำเข้าหรือจำหน่าย ต้องจดแจ้งรายละเอียดให้ครบถ้วนต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบได้แก่ ส่วนประกอบหลัก ผลการทดสอบความปลอดภัยและการรับรอง ด้านอาหาร ติดฉลากระบุส่วนประกอบ ปริมาณการใช้ที่เหมาะสม ระบุวันผลิตและหมดอายุ สถานที่ตั้งของผู้ผลิตนำเข้า รวมทั้งคำเตือนต่าง ๆ โดยใช้ตัวอักษรที่สามารถเห็นได้ชัดเจน และเข้าใจได้ง่าย
ความคิดเห็น:ผู้ผลิตควรจะระบุรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ให้ครบถ้วนและไม่ควรใช้สารแต่งกลิ่นจนเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น